ทะเลไทย



ทะเลไทย
          ทะเลไทยแบ่งออกได้เป็น ทะเลไทยฝากฝั่งอันดามัน ซึ่งเริ่มต้นที่จังหวัดระนองไปสิ้นสุดที่จังหวัดสตูล ส่วนทะเลไทยฝากฝั่งอ่าวไทยนั้นเริ่มต้นจากจังหวัดตราดทางภาคตะวันออกลงไปทางภาคใต้สิ้นสุดที่จังหวัดนราธิวาส
          ทะเลไทยเป็นทะเลที่อยู่ในเขตร้อนหรือเขตศูนย์สูตร สภาพแวดล้อมใต้ทะเล แสงแดด และอุณหภูมิของน้ำ เหมาะอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ทะเลไทยจึงเป็นแหล่งอาศัยของสรรพชีวิตนานาชนิด โดยเฉพาะปะการังน้ำตื้นและน้ำลึก ที่รวมตัวกันเป็นแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ เปรียบดังป่าผืนใหญ่ใต้ท้องทะเล นอกจากความอุดมสมบูรณ์แล้ว สีสันอันหลากหลายของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเลไทยยังสวยงามน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้ท้องทะเลใดในโลก จนได้รับการยกย่องจากนิตรสาร SKIN DIVING ให้เป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามติิดอันดับหนึ่งในสิบของโลก
          ทว่าทะเลไทยจะคงความสวยงามอยู่ไม่ได้ หากคนไทยไม่เห็นคุณค่าและไม่ช่วยกันอนุรักษ์เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกทางธรรมชาติสำหรับลูกหลานไทยในวันข้างหน้า

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย     

ว่าวไทย


ว่าวไทย
          แรกเริ่มเดิมทีว่าวที่ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศจีนนั้น ไม่ใช่เพื่อการกีฬาแต่อย่างใด ว่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการทหารรูปแบบหนึ่ง ต่อมาว่าวได้กลายเป็นเครื่องเล่นยอดนิยมในหลายชนชาติ ไทยเราเองก็ปรากฎหลักฐานการเล่นว่าวมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย
          ว่าวไทยที่รู้จักกันดี ก็คือ ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ที่มักจะแข่งขันชิงความเป็นหนึ่งกันบนน่านฟ้า กล่าวกันว่า ชั้นเชิงการต่อสู้ระหว่างว่าวจุฬากับว่าวปักเป้านั้น เปรียบประดุจพังพอนกับงูเห่า ที่เป็นคู่ปรับเก่ากันมาตลอด ยามเมื่อว่าวทั้งสองติดลมบน เราจะได้เห็นลีลาที่พลิ้วไหวสง่างามของว่าวจุฬาที่อยู่ทางฝั่งเหนือลมพยายามใช้อาวุธคือ จำปา โฉบเกี่ยวสายป่ายว่าวปักเป้า คู่ต่อสู้ที่ลอยตัวนิ่งๆ ที่ดูเชิงหาจังหวะเพื่อใช้เหนี่ยงซึ่งเป็นอาวุธประจำกายเผด็จศึกว่าวจุฬาดึงให้ตกในแดนตนเช่นกัน
          นอกจากว่าวจะเป็นเครื่องเล่นประจำฤดูกาลที่ปรากฎให้เห็นในวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังแฝงไปด้วยหลักกลศาสตร์จากภูมิปัญญาไทยอย่างชาญฉลาดยิ่ง

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

ตุ๊ก ตุ๊ก


ตุ๊ก ตุ๊ก
            "ตุ๊ก ตุ๊ก" สามล้อเครื่องสายพันธ์ไทยหัวใจลูกทุ่ง สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมให้บริการมากที่สุด ด้วยระบบเครื่องยนต์ 500 ซีซี ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด คือ อัตราความเร็ว 45 กม./ชม. หากขับในเขตชุมชน และอัตาเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. หากขับออกนอกเมือง ยานพาหนะที่ขับพาคุณตระเวนไปทุกที่ สะดวก รวดเร็ว ซอกแซก ซอกซอน ไม่เกี่ยงงอนแม้แต่บรรทุกทั้งคน สัตว์ สิ่งของ รับรองด้วยเกียรติของ "ตุ๊ก ตุ๊ก" ไทยว่า ถึงที่หมายสบายกว่าเดิน ในราคาเริ่มต้นที่ 20 บาท พร้อมประกันภัย (ธรรมชาติ) จากผ้ายางรอบทิศทางหากผู้โดยสารต้องประสบกับพายุและฝนฟ้าคะนอง
            ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รักธรรมชาติ สายลม แสงแดด และต้องการสัมผัสกับการจราจรไทยอย่างใกล้ชิด "ตุ๊ก ตุ๊ก" จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าจะลองใช้บริการดู

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

มวยไทย


มวยไทย
           มวยไทยแต่เดิมถือเป็นการเล่นพื้นบ้านที่มีลักษณะของการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยการใช้อวัยวะ 6 อวัยวะ ได้แก่ หมัด ศอก แขนท่อนล่าง เท้า แข้ง และเข่า มาใช้งานอย่างชาญฉลาดและมีศิลปะอย่างสูง ด้วยเหตุนี้มวยไทยจึงกลายเป็นศิลปะและเอกลักษณ์โดดเด่นประจำชาติไทย ผู้มีชื่อเสียงเชิงมวยไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนเป็นที่เลื่องลือและเป็นที่รู้จักกันจนถึงปัจจุบัน คือ นายขนมต้ม มวยไทยเป็นการฉกด้วยมัดเปล่าๆ ต่อมาเมื่อมีการแข่งขัน จึงได้มีการคาดเชือกที่มือ และพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่ง สวมนวมแบบมวยสากล
            ไม้มวยหรือลูกไม้ที่ใช้ในการต่อสู้จะมีชื่อเรียกตามลักษณะของการป้องกันและตอบโต้ เช่น อิเหนาแทงกริช จระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา มณโฑนั่งแท่น หนุมานถวายแหวน และพม่ารำขวาน เป็นต้น มวยไทยในปัจจุบันได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก สังเวียนมวยจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการเข้าชมในแต่ละครั้งไม่น้อยเลยทีเดียว

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

นาฏศิลป์ไทย


นาฏศิลป์ไทย
           นาฏศิลป์ไทย เป็นการแสดงท่ารำที่อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเคลื่อนไหวรับกันงดงาม มีท่วงท่าสอดคล้องกับทำนองและจังหวะดนตรี และสื่อความหมาย ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกได้ นาฏศิลป์มี 2 ประเภท คือ ระบำและละคร
           ระบำ คือการร่ายรำตามจังหวะและเพลงให้พร้อมเพรียงงดงาม มีทั้งระบำเดี่ยว ระบำคู่ และระบำหมู่
           ละคร คือการแสดงรำที่เป็นเรื่องราว เช่น ละครนอก ละครใน ละครพันทาง และโขน
           ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดจากอริยาบถต่างๆ ของคนในชีวิตประจำวัน แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้าก็ต้องเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันจึงจะดูงามและสื่อความหมายได้ดี
           นาฏศิลป์เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ ปู่ ย่า ตา ยายได้ถ่ายทอดไว้ให้เรา เราจึงควรจะรักษาไว้เพื่อเป็นศรีสง่าแก่ประเทศสืบไป

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย  

ดนตรีไทย



ดนตรีไทย
          ดนตรีไทยมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะบรรเลิงในงานใดๆ ทั้งมงคลและอวมงคล
          เครื่องดนตรีไทยแบ่งตามลักษณะของการบรรเลงได้เป็น 4 ประเภท คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า เครื่องดีดได้แก่ กระจับปี่ จะเข้ เครื่องสีได้แก่ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ เครื่องตีได้แก่ ระนาด กลอง ระฆัง โทน รำมะนา ตะโพน ฉิ่ง และฉาบ ส่วนเครื่องเป่าได้แก่ ปี่และขลุ่ย
การเอาเครื่องดนตรีหลายๆ ชนิดมาบรรเลงรวมกัน เรียกว่า ผสมวง การผสมวงจะต้องพิจารณาเลือกแต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงกลมกลืน และไม่ดังกลบเสียงกัน วงดนตรีไทยที่ผสมเป็นวงและถือเป็นแบบแผน มีอยู่ 3 ประเภท คือ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และวงมโหรี ซึ่งวงดนตรีแต่ละประเภทจะมีวิธีบรรเลงและเสียงของเครื่องดนตรีแตกต่างกัน โดยวงปี่พาทย์ไม้แข็งจะมีเสียงแกร่งกร้าว บรรเลงค่อนข้างเร็วและโลดโผน วงปี่พาทย์ไม้นวม การบรรเลงค่อนข้างช้า ไพเราะในทางนุ่มนวล วงมโหรีต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนวงเครื่องสายมีทั้งรุกเร้า รวดเร็ว และไพเราะนุ่มนวล

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย   

เรือนไทย


เรือนไทย
         เรือนไทยแบ่งออกเป็น เรือนไทยภาคกลาง เรือนไทยภาคเหนือ เรือนไทยภาคอีสาน เรือนไทยภาคตะวันออก และเรือนไทยภาคใต้ ซึ่งในแต่ละภาคก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป สิ่งที่ทำให้เรียนไทยในแ่ต่ละาคคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันนั้น เป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การสนองต่อประโยชน์ใช้สอย สภาพภูมิอากาศ อาชีพ ความเชื่อ รวมถึงวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยทั่วไปแล้วเรือนไทยมีลักษณะเป็นเรือนยกใต้ถุนสูงพ้นศีรษะขึนไป มีระดับลดหลั่นกันประกบด้วย ห้องนอน ห้องครัว ระเบียง ชานกว้าง และหลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แฝก หญ้า ใบตองตึง เป็นต้น
          เรือนไทยสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผน และเรือนไทยพื้นบ้านในชนบททั่วไป เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผนนั้น มักมีแบบแผนที่แน่นอน มีการก่อสร้างที่ละเอียด เป็นเรือนถาวรทนทาน ส่วนเรือนพื้นบ้านนั้นมักเป็นเรือนที่ใช้วัสดุภายในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ราคาถูก ฝีมือไม่ใครประณีต แต่ยังคงความงามของรูปทรงเอาไว้ หาดูได้แทบชนบทของไทย

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย     

ประเพณีลอยกระทง


ประเพณีลอยกระทง
          ประเพณีลอยกระทง สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย โดยลัทธิพราหมณ์มีความเชื่อว่าการลอยกระทงเป็นการบูชาแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่ศาสนาพุทธมีความเชื่อว่า การลอยกระทงเป็นการทำพิธีเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จจากเทวโลกสู่โลกมนุษย์ หลังจากที่ทรงเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
          สำหรับประเทศไทย ประเพณีลอยกระทงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เมื่อมีพิธีหลวงจะเรียกว่า "พระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ลอยพระประทีป" โดยเป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 ประชาชนจึงได้จัดทำกระทงเป็นรูปต่างๆ และประดับตกแต่งให้สวยงามด้วยดอกไม้สด ในกระทงจะปักธูปเทียน หรือใส่สตางค์หรือหมากพลูลงไปด้วย สมัยก่อนในพิธีลอยกระทงจะมีการเล่นสักวา เล่นเพลงเรือ และมีมหรสพประกอบงาน ประกวดกระทงและร่วมกันลอยกระทง โดยจุดธูปเทียนกล่าวอธิษฐานตามที่ใจปราถนาและปล่อยกระทงให้ลอยตามน้ำไป

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

การแข่งเรือยาว


การแข่งเรือยาว
          การแข่งเรือยาวมีมาตั้งแต่สมัยใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้มีการแข่งเรือเพื่อฝึกซ้อมฝีพายทหารในราวเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากพอดี เรือลำใดที่ไปถึงเส้นชัยก่อนจะได้รับพระราชทานรางวัล ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เรือที่ใช้แข่งขันกันในปัจจุบันนี้พัฒนาและดัดแปลงมาจากเรือรบนั่นเอง ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจะพายเรือมาชุมนุมกัน เล่นเพลงเรือโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว และมักจบลงด้วยการแข่งเรือ
          เรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันจะเป็นเรือที่ขุดจากไม้ทั้งต้น โดยมากใช้ไม้ตะเคียนทอง เพราะมีลำต้นขนาดใหญ่ไม่คดงอ เนื้อไม้แข็ง ละเอียด น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ดี ไม่ผุง่าย อีกทั้งมีอายุการใช้งานได้นานเป็นร้อยปี และที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อที่ว่า ไม้ตะเคียนทุกต้นจะมีนางไม้ ถ้าเรือลำใดทำพิธีอย่างถูกต้องแม่ย่านางจะนำความสำเร็จมาสู่ฝีพายเรือ
          การแข่งเรือยาวที่ดูเหมือนว่าเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงนั้น แท้จริงแล้วเป็นการสืบทอดประเพณีไทย ที่มีมาช้านานให้คงอยู่คู่สายน้ำตลอดไป

กระบวนพยุหยาตราชลมารค


กระบวนพยุหยาตราชลมารค
          กระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธี ที่จัดขึ้นสำหรับพระ้เจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ประกอบการมาแต่สมัยสุโขทัย
          การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคมีวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือเมื่อว่างจากการรบ เสมือนเป็นการฝึกซ้อมระดมพล โดยตกแต่งเรืออย่างสวยงาม ประโคมดนตรีไปในกระบวนด้วย เพื่อความเพลิดเพลินและให้พลพายเกิดความฮึกเหิม
          เรือที่ใช้ในริ้วกระบวน มีชื่อต่างๆมากมาย เช่น เรือดั้ง เรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ เรือริ้ว เรือกราบ เรือพระที่นั่ง เป็นตั้น โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ นอกจากจะมีความงดงามด้านศิลปกรรมและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก ประจำปี ค.ศ. 1992 จากองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรอีกด้วย

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

จิตรกรรมฝาผนัง


 จิตรกรรมฝาผนัง
          จิตรกรรมฝาผนัง คือ ศิลปะการวาดภาพด้วยภูมิปัญญาและภูมิปัญญาของช่างเขียนไทยโบราณ ซึ่งได้สะท้อนแนวความคิดและเรื่องราวทางพุทธศาสนา กิจกรรมทางสังคม ตลอดจนวิถีของผู้คนในสมัยนั้น ภาพจิตรกรรมไทยโบราณมักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา หรือคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ดังนั้นการเขียนภาพจิตรกรรมจึงมักเขียนบนฝาผนังภายในโบสถ์หรือวิหารวัดต่างๆ
         ช่างเขียนไทยแต่โบราณนิยมเขียนภาพด้วยสีฝุ่นผสมกาว โดยนำวัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำเป็นสี มาทำให้แห้งและบดละเอียดเป็นผง ซึ่งเรียกว่าสีฝุ่น เมื่อจะเขียนภาพ ก็จะผสมสีฝุ่นด้วยกาวและน้ำ กาวที่ใช้ในสมัยโบราณส่วนมากทำจากหนังสัตว์ ผู้ที่เริ่มเอาเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกมาใช้เป็นท่านแรกคือ พระอาจารย์อินโข่ง หรือที่เรียกกันติดปากว่า ขรัวอินโข่ง
           ภาพเขียนฝาผนังของไทยทั้งหมด เขียนบนผนังฉาบปูนซึ่งแห้งแล้ว ส่วนการเขียนภาพบนผนังปูนซึ่งยังเปียกตามกรรมวิธีของชาวตะวันตก ที่เรียกว่า เฟรสโก (fresco) นั้น ไม่เป็นที่นิยมของช่างไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของคนไทยอยู่ในพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย   

โบราณสถาน



โบราณสถาน
          หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันยาวนานของไทย คือ แหล่งโบราณสถานอายุเก่าแก่กว่าร้อยหรือพันปี ที่มีอยู่มากมายทั่วผืนแผ่นดิน ซึ่งไม่เพียงเป็นหลักฐานที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของประเทศ แต่มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ยังเป็นสิ่งเชื่อมโยงเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในชาติ และสามารถกระตุ้นจิตสำนึกของคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี
          ปัจจุบันแหล่งโบราณสถานของไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยี่ยมชม แหล่งที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุทธยา อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534
          โบราณสถานแต่ละแห่งอาจมีวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างและศิลปะในการก่อสร้างแตกต่างกันไป แต่ต่างก็มีคุุุณค่าอย่างยิ่ง สมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหนสมบัติล้ำค่าของชาติเหล่านี้ ให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยตราบนานเท่านาน

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย     

วัด


วัด
          พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามายังดินแดนของประเทศไทยได้นับพันปีแล้ว หลักฐานที่ยืนยันได้ถึงความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในดินแดนของเรา คือ ศาสนสถาน ที่มีความนิยมสร้างเพื่อการเคารพบูชามาตลอดทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะ "วัด" ที่ได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน
          วัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามฐานะของวัด ได้แก่ วัดหลวงหรือพระอารามหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายใยพระราชวงศ์ทรงสร้างหรือทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งนี้วัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด คือ ชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร มีทั้งหมด 6 วัด ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 4 วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศน์เทพวรารามและวัดอรุณราชวราราม ที่เหลืออีก 2 วัด อยู่ในต่างจังหวัด ได้แก่ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี สำหรับวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มิได้จัดอยู่ในชั้นหนึ่งชั้นใดเหมือนพระอารามหลวงอื่นๆ เนื่องจากเป็นวัดที่มีแต่พุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาเช่นวัดอื่นๆ ส่วนวัดราษฏร์ คือ วัดที่ราษฎร์สร้างขึ้นซึ่งไม่มีการแบ่งชั้นแต่อย่างใด

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย  ประเทศไทย

พระบรมมหาราชวัง


พระบรมมหาราชวัง
          พระบรมมหาราชวัง สถาปัตยกรรมที่สำคัญและทรงคุณค่ายิ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมกับการสร้างกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2325
          ภายในพระบรมมหาราชวัง มีหมู่พระที่นั่งต่างๆ ที่สร้างขึ้นด้วยความประณีตบรรจงและคงความงดงามตลอดระยะเวลากว่า 200 ปี อันได้แก่ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช เทพยดาผู้ปกป้องคุ้มครองชาติไทย มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำราชวัง ประดิษฐานพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย
          พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่รวบรวมต้นแบบที่สำคัญของงานศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม จิตรกรรมและปะติมากรรม จึงนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เราคนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย     

ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา


ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสา
         กระดาษสาได้จากเยื่อไม้ธรรมชาติซึ่งชาวล้านนาได้รับอิทธิพลการทำกระดาษสาด้วยมือจากจีน และทำสืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคน ในอดีตกระดาษสาถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ ทำสมุดจดบันทึกที่เรียกว่า "พับสา" (สมุดไทย) ลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าพับทบไปทบมา เขียนได้ทั้ง 2 ด้าน ตกแต่งปกสมุดด้วยภาพเขียนหรือลงรักปิดทองอย่างวิจิตรบรรจง ทำให้ดูงดงามมีคุณค่า
          แหล่งผลิตกระดาษสาที่สำคัญของไทยอยู่ที่บ้านต้นเปา อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยปัจจุบันมีการประยุกต์ทำกระดาษเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ อาทิ ดอกไม้ประดิษฐ์ กระดาษห่อของขวัญ การ์ดอวยพร ของชำร่วยและของที่ระลึกซึ่งทำเป็นกล่องหลายรูปแบบและลวดลาย รวมทั้งร่มกระดาษสาซึ่งมีสีสันลวดลายสวยงามสะดุดตา และเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อของชาวบ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ นอกจากผลิตภัณฑ์กระดาษสาจะเป็นที่นิยมในประเทศแล้ว ยังสามารถสร้างชื่อเสียงจากการเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศอีกด้วย

โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย    

หัวโขน


หัวโขน
          หัวโขนไทย เป็นเครื่องสวมหัวครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูตรงตาให้มองเห็น มีลักษณะต่างๆกันไปตามฐานะของตัวแสดง เช่น ตัวยักษ์ ลิง เทวดา หรืออื่นๆ เพื่อใช้ในการแสดงโขน ซึ่งเป็นกรแสดงอย่างหนึ่งของไทย ผู้แสดงจะต้องสวมหัวโขนหมดทุกตัว ยกเว้นตัวนาง พระ และเทวดา
          หัวโขนเป็นงานช่างชั้นครูที่ต้อใช้ฝีมืออย่างสูง ในการทำหัวโขนจะต้องมีหุ่นหัวโขนทำจากปูนหรือสลักไม้พอให้มีลักษณะหน้าหรือรูปศีรษะพอเป็นเค้าเพียงเล็กน้อย จากนั้นใช้กระดาษฟาง กระดาษสา หรือกระดาษข่อยอย่างบาง ชุบน้ำพอเปียกปะปิดจนทั่วหุ่น 3-4 ชั้น แล้วตามด้วยกระดาษทาแป้งเปียกปดทับจนหนาพอควร หลังจากพึ่งแดดจนแห้ง ก็นำมาขัดถูให้เรียบทั่วหัว ผึ่งแดดอีกครั้ง แล้วขัดจนขึ้นมัน ลอกกระดาษออกจากหุ่น จากนั้นก็ถึงขั้นตอนการตกแต่งหัวโขนด้วยรักสมุก และลงสีจนเสร็จ
          ปัจจุบันมิได้ผลิตหัวโขนเพื่อการแสดงเท่านั้น ยังมีการย่อหัวโขนให้มีขนาดเล็กลง เพื่อนำมาประดับตกแต่งบ้านและสถานที่ได้อย่างสวยงามและดูมีคุณค่ายิ่ง

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย   

ตุ๊กตาชาววัง


ตุ๊กตาชาววัง
          ตุ๊กตาชาววัง เดิมเป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเผยแพร่ออกมานอกวัง ผลิตวางจำหน่ายในงานภูเขาทอง ทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักตุ๊กตาชาววังอย่างกว้างขวาง
          ตุ๊กตาชาววังบรรจงปั้นเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กท่าทางต่างๆ เด็กเล็กจะไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปียแบบไทยๆ อีกทั้งมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี ละครนอก ละครใน ตัวตุ๊กตาจะลงสีผิวขาว แต่งหน้า ทาปาก เขียนเสื้อผ้านุ่งห่มสีตามวันอย่างชาววัง โดยเฉพาะตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี ศิลปินผู้สืบทอดการปั้นตุ๊กตาชาววังตามแบบฉบับดั้งเดิมคนสุดท้าย จะขึ้นท่าตุ๊กตาฝ่ายหญิงอย่างอ่อนช้อย ฝ่ายชายดูสง่า ขึงขัง และเด็กท่าทางรื่นเริงเป็นธรรมชาติมาก
          วิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังไม่ได้สูญหายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของนางแฉ่ง ท่านได้ถ่ายทอดวิชานี้เพื่อนำไปเผยแพร่ที่โครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หมู่บ้านวัดท่าสุธทาวาส ตำบลบางเสด็จ อำเภอปากโมก จังหวัดอ่างทอง ตุ๊กตาชาววังจึงยังเป็นเหมือนตัวแทนย้ำเตือนให้เรารำลึกถึงวิถีชีวิตไทยในอดีต

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย    

เครื่องจักสาน


เครื่องจักสาน
          การผลิตเครื่องจักสานในประเทศไทยมีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานด้านโบราณคดี คือ การขุดพบเครื่องปั้นดินเผาสมัยหินใหม่ที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายคลึงกับเครื่องจักสาน
         แม้จะมีการทำเครื่องจักสานมานานแล้ว แต่กรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานในปัจจุบันก็ไม่ได้แตกต่างจากอดีต เครื่องจักสานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ประเภทแรก คือเครื่องจักสานสำหรับใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะต่างๆ เครื่องจับสัตว์น้ำ เครื่องปูลาด เครื่องสวมศีรษะ และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ประเภทที่สอง เป็นเครื่องจักสานที่เป็นส่วนประกอบของอาคารบ้านเรือน เช่น ฝาเรือน เป็นต้น
         รูปแบบของเครื่องจักสานที่ผลิตในแต่ละภาคหรือท้องถิ่น จะมีรูปแบบลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ความนิยม จุดประสงค์ในการใช้สอย และวัสดุที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ลำต้นผักตบ กก หวาย กระจูด ใบลำเจียกหรือปาหนัน และย่านลิเภา เป็นต้น

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย  

ย่านลิเภา


ย่านลิเภา
          ย่านลิเภาเป็นพืชจำพวกเฟิน มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ขึ้นอยู่ทั่วไปทางภาคใต้ของประเทศไทย ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเริ่มนำย่านลิเภามาทำงานจักสานในราวต้นรัตนโกสินทร์ เริ่มแรกเป็นที่นิยมแพร่หลายเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง รู้จักกันในวงจำกัด งานหัตถกรรมในด้านนี้จึงขาดช่วงสืบทอดไปนาน
          ปัจจุบันงานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่านี้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องด้วยเป็นงานที่ประณีต สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้รับความสนใจจากคนทั่วไป อีกทั้งได้พัฒนาชิ้นงานให้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำด้ามปากกา กำไล กล่องใส่เครื่องประดับและของกระจุกกระจิกอื่นๆ เพิ่มประโยชน์ใช้สอยมากยิ่งขึ้น
          งานจักสานย่านลิเภาได้รับการส่งเสริมและบรรจุุเข้าในโครงการศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงเป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างประเทศ ยังความภาคภูมิใจและกำลังใจมาสู่ผู้สืบสานงานฝีมืออันทรงคุณค่านี้ยิิ่งนัก

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย   

งานแกะสลักไม้


งานแกะสลักไม้
          งานแกะสลักไม้ เป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ ที่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไทย ช่างแกะสลักไม้ฝีมือดีหลายคนล้วนได้รับการถ่ายทอดความเป็นช่างตามแบบโบราณ คือเรียนหนังสือพร้อมกับเรียนรู้งานศิลปะจากวัด เหตุนี้เองผลงานศิลปะที่สื่อออกมาจึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดและความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งปรากฎอยู่ตามวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลวดลายที่บานประตูโบสถ์ วิหาร หน้าบัน หอไตร เป็นต้น
         จังหวัดเพชรบุรี มีชื่อเสียงทางงานแกะสลักมานาน ผลงานที่ร่ำลือก็คือ การแกะสลักบานประตูวัดบวรนิเวศวิหาร จำนวน 6 บานด้วยกัน จากจำนวนทั้งสิ้น 8 บาน ลวดลายที่จำหลักนั้น อ่อนช้อย งดงาม ราวกับภาพจิตรกรรมีมิติ
         หนึ่งในช่างฝีมือเพชร ได้เปรียบงานแกะสลักไม้ไว้ว่า ต้องบรรจงเหมือนเขียนหนังสือ งานบางชิ้นที่ปรากฏออกมานั้นอาจใช้เวลาทั้งชีวิตของช่างเองเลยทีเดียว

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย 

เครื่องปั้นดินเผา



เครื่องปั้นดินเผา
          เครื่องปั้นดินเผาเป็นของใช้ที่ทำจากดิน ส่วนใหญ่ใช้เป็นภาชนะ เช่น จาน ชาม ถ้วย กาน้ำ โอ่งน้ำ อ่าง กระถางต้นไม้ เครื่องปั้นดินเผามี 2 ชนิด คือเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบ และเครื่องเคลือบดินเผา แบบไม่เคลือบนั้น หลังจากปั้นเสร็จก็จะนำไปเข้าเตาเผาความร้อนสูง เมื่อเผาได้ที่จะได้เครื่องปั้นดินเผาสีแดง เนื้อแข็งแกร่ง แต่มีรูพรุนซึมน้ำได้ จึงเหมาะสำหรับเป็นคนโทน้ำหรือกระถางต้นไม้ เพราะน้ำจะระเหยออกได้บ้าง ทำให้น้ำข้างในเย็นอยู่ตลอดเวลา ส่วนเครื่องเคลือบดินเผา  เมื่อปั้นเสร็จต้องนำไปอาบหรือชุบน้ำเคลือบก่อนจึงเผา เมื่อเผาเสร็จจะได้เครื่องปั้นที่มีผิวใส งดงามและไม่ซึมน้ำ เครื่องปั้นของไทยโบราณหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นเวลากว่าห้าพันปีแล้ว
          เครื่องปั้นแบ่งออกตามลักษณะของกรรมวิธีในการผลิตได้เป็น 4 แบบคือ เครื่องปั้นเนื้อดิน (earthenware) เครื่องปั้นเนื้อแกร่งหรือเครื่องหิน (stoneware) เครื่องปั้นเคลือบหรือเครื่องเคลือบ (glazeware) และเครื่องปั้นลายครามหรือเครื่องกระเบื้อง (porcelain หรือ chinaware)

โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย