จิตรกรรมฝาผนัง คือ ศิลปะการวาดภาพด้วยภูมิปัญญาและภูมิปัญญาของช่างเขียนไทยโบราณ ซึ่งได้สะท้อนแนวความคิดและเรื่องราวทางพุทธศาสนา กิจกรรมทางสังคม ตลอดจนวิถีของผู้คนในสมัยนั้น ภาพจิตรกรรมไทยโบราณมักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา หรือคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ดังนั้นการเขียนภาพจิตรกรรมจึงมักเขียนบนฝาผนังภายในโบสถ์หรือวิหารวัดต่างๆ
ช่างเขียนไทยแต่โบราณนิยมเขียนภาพด้วยสีฝุ่นผสมกาว โดยนำวัสดุต่างๆ ที่ใช้ทำเป็นสี มาทำให้แห้งและบดละเอียดเป็นผง ซึ่งเรียกว่าสีฝุ่น เมื่อจะเขียนภาพ ก็จะผสมสีฝุ่นด้วยกาวและน้ำ กาวที่ใช้ในสมัยโบราณส่วนมากทำจากหนังสัตว์ ผู้ที่เริ่มเอาเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกมาใช้เป็นท่านแรกคือ พระอาจารย์อินโข่ง หรือที่เรียกกันติดปากว่า ขรัวอินโข่ง
ภาพเขียนฝาผนังของไทยทั้งหมด เขียนบนผนังฉาบปูนซึ่งแห้งแล้ว ส่วนการเขียนภาพบนผนังปูนซึ่งยังเปียกตามกรรมวิธีของชาวตะวันตก ที่เรียกว่า เฟรสโก (fresco) นั้น ไม่เป็นที่นิยมของช่างไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของคนไทยอยู่ในพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดย :เรื่องไทยๆ ของดีของไทย