การแข่งเรือยาว
การแข่งเรือยาว
การแข่งเรือยาวมีมาตั้งแต่สมัยใดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้มีการแข่งเรือเพื่อฝึกซ้อมฝีพายทหารในราวเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากพอดี เรือลำใดที่ไปถึงเส้นชัยก่อนจะได้รับพระราชทานรางวัล ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า เรือที่ใช้แข่งขันกันในปัจจุบันนี้พัฒนาและดัดแปลงมาจากเรือรบนั่นเอง ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจะพายเรือมาชุมนุมกัน เล่นเพลงเรือโต้ตอบกันระหว่างหนุ่มสาว และมักจบลงด้วยการแข่งเรือ
เรือยาวที่ใช้ในการแข่งขันจะเป็นเรือที่ขุดจากไม้ทั้งต้น โดยมากใช้ไม้ตะเคียนทอง เพราะมีลำต้นขนาดใหญ่ไม่คดงอ เนื้อไม้แข็ง ละเอียด น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ดี ไม่ผุง่าย อีกทั้งมีอายุการใช้งานได้นานเป็นร้อยปี และที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อที่ว่า ไม้ตะเคียนทุกต้นจะมีนางไม้ ถ้าเรือลำใดทำพิธีอย่างถูกต้องแม่ย่านางจะนำความสำเร็จมาสู่ฝีพายเรือ
การแข่งเรือยาวที่ดูเหมือนว่าเป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงนั้น แท้จริงแล้วเป็นการสืบทอดประเพณีไทย ที่มีมาช้านานให้คงอยู่คู่สายน้ำตลอดไป