ตุ๊กตาชาววัง เดิมเป็นตุ๊กตาที่ทำเล่นกันเฉพาะเจ้านายในพระบรมมหาราชวังสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วเผยแพร่ออกมานอกวัง ผลิตวางจำหน่ายในงานภูเขาทอง ทำให้ผู้คนทั่วไปรู้จักตุ๊กตาชาววังอย่างกว้างขวาง
ตุ๊กตาชาววังบรรจงปั้นเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กท่าทางต่างๆ เด็กเล็กจะไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปียแบบไทยๆ อีกทั้งมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี ละครนอก ละครใน ตัวตุ๊กตาจะลงสีผิวขาว แต่งหน้า ทาปาก เขียนเสื้อผ้านุ่งห่มสีตามวันอย่างชาววัง โดยเฉพาะตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี ศิลปินผู้สืบทอดการปั้นตุ๊กตาชาววังตามแบบฉบับดั้งเดิมคนสุดท้าย จะขึ้นท่าตุ๊กตาฝ่ายหญิงอย่างอ่อนช้อย ฝ่ายชายดูสง่า ขึงขัง และเด็กท่าทางรื่นเริงเป็นธรรมชาติมาก
วิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังไม่ได้สูญหายไปพร้อมกับการเสียชีวิตของนางแฉ่ง ท่านได้ถ่ายทอดวิชานี้เพื่อนำไปเผยแพร่ที่โครงการศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ หมู่บ้านวัดท่าสุธทาวาส ตำบลบางเสด็จ อำเภอปากโมก จังหวัดอ่างทอง ตุ๊กตาชาววังจึงยังเป็นเหมือนตัวแทนย้ำเตือนให้เรารำลึกถึงวิถีชีวิตไทยในอดีต
โดย :เรื่องไทย ของดีของไทย